ชื่อไทย: มะเขือเปราะ
ชื่ออังกฤษ: Thai eggplant
ชื่อวิทยาศาสตร์: Solanum virginianum L.
มะเขือเปราะสีม่วง เป็นมะเขือเปราะแบบเดียวกันกับมะเขือเปราะสีเขียว สีเหลือง และสีขาวที่นิยมกินกันโดยทั่วไป เพียงแต่เปลือกนอกจะมีสีม่วงเข้มสวยงามคล้ายสีของมะเขือม่วง จึงเป็นผักคู่สำรับน้ำพริกที่พบเห็นได้บ่อยขึ้นในปัจจุบันเพราะมีสีสันสะดุดตา ทั้งยังเหมาะจะนำไปแกะสลักเป็นผักตกแต่งจานเพราะมีสีม่วงและขาวที่ตัดกันสวยงาม ทั้งยังมีรสชาติดี มีประโยชน์ จึงเป็นผักแต่งจานที่สวยทั้งรูปและจูบก็หอมจนมองข้ามไม่ได้
มะเขือเปราะมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิโดยธรรมชาติ ช่วยในระบบการย่อยอาหาร ช่วยลดความดันและระดับน้ำตาลในเลือด มีสารที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของกลูโคสจึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน แถมยังเป็นผักที่มีเส้นใยมาก มีแคลอรีน้อย ทำให้อิ่มนาน เหมาะกับคนที่กำลังควบคุมอาหารและลดน้ำหนักเป็นอย่างยิ่ง
การเลือกซื้อ
เลือกมะเขือเปราะที่ลูกกลมมน ไม่มีรอยโรคและแมลง ผิวเกลี้ยงสวย หากเลือกมะเขือเปราะลูกเล็ก เมล็ดข้างในจะละเอียด เคี้ยวง่าย ส่วนมะเขือเปราะลูกที่ใหญ่ขึ้น เมล็ดจะแก่กว่า แต่ให้เนื้อมากกว่า สามารถกินได้ทั้งสองแบบขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน เพียงแต่ต้องเลือกมะเขือเปราะที่ขั้วยังติดแน่นอยู่กับผล ไม่เหี่ยว กดเนื้อมะเขือเปราะดูแล้วต้องแน่น ไม่ยวบหรือยุบไปตามรอยมือ
วิธีล้าง
มะเขือเปราะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของผักที่มีสารตกค้างมากเป็นอันดับต้นๆ ทั้งยังเป็นผักที่กินทั้งเปลือก ก่อนจะนำไปปรุงอาหารจึงควรล้างให้ถูกวิธี โดยเด็ดขั้วออก แล้วนำมะเขือเปราะทั้งลูกแช่น้ำผสมน้ำเกลือ หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูแล้วแช่ทิ้งไว้ราว 20 นาทีก่อนล้างให้สะอาดอีกครั้งด้วยน้ำเปล่า ใช้มือถูที่ผิวของมะเขือเปราะโดยรอบเพื่อลดสารตกค้าง หลังจากนั้นจึงตัดแต่งขั้วให้สวยงาม ผ่าครึ่งหรือผ่าซีกตามความต้องการ แล้วแช่มะเขือไว้ในน้ำที่ผสมเกลือเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้มะเขือมีรอยดำจนกว่าจะถึงเวลาเสิร์ฟ
วิธีกิน-วิธีปรุง
มะเขือเปราะสีม่วงสามารถนำไปทำอาหารแทนมะเขือเปราะสีเขียวหรือสีขาวได้ทุกเมนู เพียงแต่เมื่อถูกความร้อนแล้ว สารสีม่วงของมะเขืออาจทำให้สีอาหารดูคล้ำลง ไม่น่ารับประทาน จึงมักนำไปทานเป็นผักสดในสำรับน้ำพริกต่างๆ หรือกระทั่งใช้แกะสลักเพื่อตกแต่งให้สำรับอาหารดูสวยงามสะดุดตามากขึ้นก็สามารถทำได้เหมือนกัน
ที่มาข้อมูล
- https://th.openrice.com/
- http://www.xn--q3ckhk5a4fzd.xn--
- https://www.thaigreenagro.com/
- นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 351 โดย รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ