ชื่อไทย: อ่อมแซบ, ตำลึงหวาน
ชื่ออังกฤษ: Chinese violet
ชื่อวิทยาศาสตร์: Asystasia gangetica T. Anders.
อ่อมแซบเป็นผักที่มีหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็นบาหยา ย่าหยา อังกาบ ตำลึงหวาน หรือชื่อน่ารักอย่าง บุษบาริมทาง บางคนเรียกว่าต้นเบญจรงค์ 5 สี เพราะอ่อมแซบอาจมีดอกได้มากถึง 5 สีในต้นเดียว เป็นไม้ล้มลุกที่มีพุ่มเตี้ย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ แต่สามารถนำมาปรุงอาหารได้เหมือนกัน โดยยอดอ่อนของต้นอ่อมแซบจะให้รสหวานเล็กน้อยตามธรรมชาติ . อ่อมแซบเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี ขยายพันธุ์ได้เร็ว และเติบโตได้ในดินแทบทุกแบบ ตามต่างจังหวัดจึงเป็นพืชที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจที่เพาะปลูกอย่างเป็นกิจลักษณะ เป็นผักหัวไร่ปลายนาที่หาเก็บได้ง่าย มีสรรพคุณในการบำรุงเลือด บำรุงสายตา บำรุงกำลัง สมานแผลในลำไส้ และยังเป็นผักฤทธิ์เย็นที่ช่วยบรรเทาอาการไข้ได้อีกด้วย
การเลือกซื้อ
อ่อมแซบเป็นผักช้ำง่าย หากได้เลือกเก็บจากต้นสดๆ จะดีที่สุด แต่หากต้องเลือกจากแผงผักในตลาด ควรเลือกต้นที่ไม่เหี่ยว ไม่ช้ำ เด็ดง่าย ใบไม่หลุดออกจากก้านมากนัก อ่อมแซบกินได้ทั้งยอดอ่อน ใบแก่ และดอก จึงไม่จำเป็นต้องเลือกกำที่เป็นยอดอ่อนๆ ทั้งหมด เพียงแต่เมื่อนำไปปรุงควรเด็ดก้านใบที่แก่และเหนียวออก เลือกใช้เฉพาะยอดอ่อนและส่วนใบก็พอ
วิธีล้าง
อ่อมแซบไม่ใช่พืชที่เพาะปลูกเพื่อการค้าขาย ไม่ค่อยมีโรคและแมลง จึงมักไม่ต้องกังวลเรื่องสารเคมีและสารตกค้างมากเท่าพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ แต่ก็ต้องล้างให้สะอาดเพราะเป็นพืชพุ่มเตี้ยที่อยู่ใกล้ผิวดิน มีใบและดอกขนาดเล็กที่ซอกหลืบมาก จึงควรล้างโดยใช้น้ำผ่านให้สะอาด หรือล้างในกะละมังหลายๆ น้ำ จนกว่าจะไม่มีเศษดินหรือทรายตกตะกอนจึงจะนำมาปรุงอาหารได้
วิธีกิน-วิธีปรุง
อ่อมแซบสามารถกินได้ทั้งดอก ยอดอ่อน ใบ และก้านใบ รสหวานธรรมชาติทำให้นำไปปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไข่เจียวอ่อมแซบ แกงจืดอ่อมแซบ อ่อมแซบผัดน้ำมันหอย ลวกหรือกินสดเป็นผักเคียงน้ำพริก รสหวานอ่อนๆ ของอ่อมแซบเมื่อใส่ในแกงต่างๆ ก็จะทำให้แกงมีรสกลมกล่อมโดยไม่ต้องพึ่งผงชูรส ชาวอีสานนิยมนำมาใส่แกงอ่อมจึงได้ชื่อว่าอ่อมแซบนั่นเอง หรือจะนำอ่อมแซบมาประยุกต์เป็นยำผักหรือสลัดผักโดยใช้ร่วมกับผักใบอื่นๆ ก็เป็นเมนูที่ช่วยเพิ่มความสดชื่นได้ดี