NEW NEW

ถั่วพู

ชื่อไทย: ถั่วพู
ชื่ออังกฤษ: Winged bean
ชื่อวิทยาศาสตร์: Psophocarpus tetragonolobus

ถั่วพูเป็นไม้เลื้อยขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศเขตร้อนแถบปาปัวนิวกินี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนที่นำมาปรุงเป็นอาหารคือส่วนฝักที่มีลักษณะแบนยาว มีปีกหยักคล้ายฟันเลื่อย 4 ด้าน ภายในฝักมีเมล็ดทรงกลมอยู่ ฝักอ่อนให้รสมันและมีโปรตีนสูง เหมาะกับคนกินมังสวิรัติ นอกจากนี้แล้ว รากของถั่วพูยังมีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศลงดิน ถั่วพูจึงถือเป็นพืชบำรุงดินที่นิยมปลูกในระหว่างพักดินอีกด้วย

ถั่วพูมีกากใยสูง ช่วยให้ระบบการขับถ่ายทำงานได้ดี ทั้งยังถือกันว่าเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ บรรเทาอาการปวดเมื่อย แก้ตัวร้อน ลดไข้ และช่วยให้มีการดูดซึมแคลเซียมและสารอาหารต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถั่วพูดิบมีสารเอนไซม์ทริปซิน (Trypsin) ที่ขัดขวางการย่อยโปรตีนอยู่ จึงไม่ควรกินถั่วพูสดในปริมาณที่มากเกินไป

การเลือกซื้อ

เลือกฝักถั่วพูที่มีสีเขียวสด ไม่เป็นสีเหลืองหรือซีดเป็นสีขาว จับดูแล้วฝักต้องแน่น ไม่แห้ง ไม่ส่งกลิ่นเหม็น อาจมีรอยดำได้บ้างเล็กน้อย แต่ไม่ควรมีรอยช้ำหรือมีเชื้อราเกาะ สังเกตแนวปีกของถั่วพู หากปลายปีกที่เป็นฟันหยักม้วนเข้าหากันคือถั่วพูที่ยังอ่อนอยู่ เมื่อนำมาปรุงอาหารก็จะกินง่าย ได้ฝักถั่วพูที่มีรสหวานมัน กรอบอร่อย และไม่มีเส้นใยแข็งๆ มากเท่าฝักถั่วพูที่ค่อนข้างแก่

วิธีล้าง

ล้างฝักถั่วพูโดยใส่ถั่วพูทั้งฝักลงในตะแกรงหรือตะกร้า แล้วเปิดน้ำไหลผ่านเป็นเวลา 1-2 นาที หรือจะแช่ด้วยน้ำผสมน้ำส้มสายชูในอัตราส่วน น้ำ 10 ส่วน ต่อน้ำส้มสายชู 1 ส่วน แช่ไว้เป็นเวลา 20 นาทีก่อนแล้วจึงล้างด้วยน้ำสะอาด ก็จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างให้น้อยลงได้ ถั่วพูที่ล้างสะอาดและหั่นแล้ว ให้นำไปแช่ในน้ำผสมเกลือเล็กน้อยก็จะช่วยให้ถั่วพูไม่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ทำให้ดูน่ากินยิ่งขึ้น

วิธีกิน-วิธีปรุง

คนไทยนิยมกินฝักอ่อนของถั่วพู ทั้งกินเป็นผักสดคู่กับน้ำพริก หรือทำยำถั่วพูกุ้งสด ใช้น้ำยำเข้ากะทิแบบโบราณ หากต้องการให้ถั่วพูเนื้อกรอบ ก่อนเสิร์ฟให้นำไปแช่ในน้ำเย็นจัด (10-15 องศาเซลเซียส) ก็จะทำให้ถั่วพูกรอบอร่อยขึ้น นอกจากกินสดแล้ว ถั่วพูก็สามารถนำไปทำเมนูอื่นๆ ได้หลากหลาย เช่น ทอดมันถั่วพู ถั่วพูผัดกะปิ ถั่วพูผัดพริกแกง หรือใส่ในแกงส้ม แกงไตปลา แกงเผ็ด และแกงกะทิรสเผ็ดร้อนแบบอื่นๆ ก็อร่อยไม่แพ้กัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่มาข้อมูล