NEW NEW

กวางตุ้ง

ชื่อไทย: กวางตุ้ง
ชื่ออังกฤษ: Chinese flowering cabbage
ชื่อวิทยาศาสตร์: Brassica Chinensis Linn.

ผักกวางตุ้งเป็นญาติพี่น้องกันกับกะหล่ำและผักกาด บางคนจึงมักเรียกว่าผักกาดกวางตุ้ง มีทั้งสายพันธุ์ที่ก้านอวบและฉ่ำน้ำอย่างกวางตุ้งฮ่องเต้ รวมถึงมีทั้งสายพันธุ์ที่ก้านสีเขียวเรียวเล็กแต่ใบแผ่กว้างอย่างผักกาดเขียวกวางตุ้งด้วย กวางตุ้งเป็นผักที่มีเส้นใยมาก มีไขมันน้อย กินแล้วอยู่ท้อง อิ่มนาน จึงถือว่าเป็นผักที่เหมาะกับคนที่กำลังคุมน้ำหนัก และยังมีแคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินซีสูง ช่วยในการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายได้ดี

กวางตุ้งมีอายุการเก็บเกี่ยวหลังปลูกเพียง 40-45 วัน จึงนิยมปลูกกันมากในฐานะของพืชเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นผักที่ติดอันดับว่าตรวจพบสารปนเปื้อนบ่อยที่สุดด้วยเช่นกัน ทั้งสารเคมีและยาฆ่าแมลง จึงควรเลือกจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ หรือหากเลือกซื้อตามร้านค้าทั่วไปก็ควรมีการล้างอย่างเหมาะสมเพื่อลดการปนเปื้อนให้ได้มากที่สุด

การเลือกซื้อ

เลือกกวางตุ้งที่ต้นยังอวบ ใบและก้านไม่เหี่ยว จับดูก้านและโคนต้นต้องรู้สึกถึงความแน่น ไม่ยุบตามแรงมือ สังเกตบริเวณรอยตัดที่โคนต้น หากผิวบางจะได้กวางตุ้งที่อ่อนกำลังดี กรอบ ไม่มีเสี้ยน สามารถกินได้ทั้งก้าน ที่สำคัญคือกวางตุ้งเป็นผักที่มีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีและยาฆ่าแมลงสูงมาก ควรซื้อจากแหล่งผลิตที่เป็นอินทรีย์จะปลอดภัยที่สุด

วิธีล้าง

ล้างกวางตุ้งด้วยการแช่ในน้ำเปล่า 10 ส่วน ผสมกับน้ำส้มสายชู 1 ส่วน หรือน้ำผสมเบกกิ้งโซดาในอัตราส่วน น้ำ 20 ลิตร ต่อ เบกกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะ แช่ไว้ประมาณ 20 นาที แล้วจึงล้างออกอีกครั้งด้วยวิธิเปิดน้ำไหลผ่านนาน 1-2 นาที ขั้นตอนนี้ต้องล้างให้สะอาดเพื่อไม่ให้มีเบกกิ้งโซดาตกค้างอยู่ในผัก

วิธีกิน-วิธีปรุง

กวางตุ้งเป็นผักยอดนิยมในทุกเมนูทั้งต้มผัดแกงทอด ไม่ว่าจะเป็นกวางตุ้งฮ่องเต้ผัดน้ำมันหอย กวางตุ้งน้ำแดง จับฉ่าย ต้มจืด จอผักกาดในอาหารเหนือ รวมถึงยังเป็นผักเคียงในเมนูอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นบะหมี่เกี๊ยวหมูแดงที่จะขาดกวางตุ้งเป็นไม่ได้ เพียงแต่ต้องเร่งมือในการปรุงอยู่บ้างเพราะหากปรุงนานเกินไปเพราะจะทำให้สูญเสียวิตามินและสารที่มีประโยชน์บางชนิดไปจากการโดนความร้อนนานๆ นั่นเอง

ที่มาข้อมูล

  • ผักชุดที่ 1: แสงแดดเพื่อนเด็ก. 2544. เขียนโดย ระพีพรรณ ใจภักดี.
  • https://medthai.com/