NEW NEW

โหระพา

ชื่อไทย: โหระพา
ชื่ออังกฤษ: Sweet Basil
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum basilicum Linn.

โหระพามีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย แต่แพร่หลายไปยังดินแดนอื่นๆ ทั้งในเอเชียและในประเทศตะวันตก รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โหระพามีบทบาทในครัวไทยอย่างหลากหลาย เพราะมีกลิ่นหอมฉุนอันเป็นเอกลักษณ์ แม้จะหน้าตาคลับคล้ายคลับคลากับใบกะเพราและใบแมงลัก แต่ก็มีกลิ่นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

น้ำมันหอมระเหยในโหระพามีกลิ่นหอมหวาน ช่วยลดอาการปวดหัวและบรรเทาอาการหวัด กลิ่นหอมๆ นี้ยังช่วยขับลมในสำไส้ ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง ไม่สบายตัว แถมยังทำให้เจริญอาหารอีกด้วย โหระพาจึงนับได้ว่าเป็นผักใบเล็กๆ ที่จิ๋วแต่แจ๋ว ไม่ควรมองข้ามแม้แต่น้อย

การเลือกซื้อ

เลือกใบโหระพาที่ใบแข็ง ขนาดกลาง ก้านใบอวบ หนา มีสีเขียวเข้ม มีดอกอ่อนอยู่เล็กน้อย จะเป็นช่วงที่ใบโหระพามีน้ำมันหอมระเหยมาก แต่ก็ไม่แก่จนเคี้ยวลำบาก เป็นโหระพาที่อายุกำลังดี เหมาะกับการนำมากินเป็นผักสดและปรุงอาหาร

วิธีล้าง

ใบโหระพาเป็นผักที่พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐานเช่นกัน ดังนั้นก่อนนำมาบริโภค โดยเฉพาะเมื่อจะนำมากินเป็นผักสด ควรล้างให้สะอาดโดยการใช้น้ำผสมเกลือหรือน้ำส้มสายชูเจือจางราว 20 นาที ก่อนจะล้างอีกครั้งด้วยน้ำสะอาด อาจใช้วิธีล้างแบบให้น้ำไหลผ่าน 1-2 นาทีก็จะทำให้นำมากินสดได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

วิธีกิน-วิธีปรุง

โหระพาสดเป็นคู่แท้ของก๋วยเตี๋ยวน้ำตกและก๋วยเตี๋ยวลุยสวน ส่วนโหระพาในอาหารจานผัดก็ต้องยกให้ผัดมะเขือยาว ผัดฟักทอง และผัดเผ็ด ในเมนูแกงก็แน่นอนว่าต้องยกให้แกงเผ็ดและแกงเขียวหวานเป็นขาประจำ ส่วนมากมักใส่ใบโหระพาเพียงจำนวนน้อยๆ เพื่อแต่งกลิ่นให้น่ากินยิ่งขึ้น แต่หากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ใบโหระพาก็สามารถนำไปทำไข่เจียวหรือรองห่อหมกทีละมากๆ รวมถึงกินเป็นผักแนมน้ำพริก แนมอาหารต่างๆ อย่างในสำรับเวียดนาม ก็ทำให้ได้กินใบโหระพาได้มากทีเดียว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่มาข้อมูล

  • นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 356 ธันวาคม 2551 เขียนโดย รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ