NEW NEW

กะเพรา

ชื่อไทย: กะเพรา
ชื่ออังกฤษ: Holy Basil
ชื่อวิทยาศาสตร์: Ocimum Sanctum

หากพูดถึงกลิ่นฉุนอันแสนคุ้นเคยประจำครัวไทย ซึ่งมาพร้อมกับฉายาอาหารสิ้นคิด ย่อมจะหนีไม่พ้นชื่อของกะเพรา ผักพื้นบ้านต้นเล็กที่เดิมดีรู้จักโดยทั่วไปอยู่ 2 ประเภท คือกะเพราขาว ใบและต้นสีเขียวอ่อน ก้านสีอมม่วงจางๆ และกะเพราแดงที่ก้านและใบเป็นสีม่วงเข้ม แต่ในปัจจุบันมีการผสมข้ามสายพันธุ์กันไปมาจนมีกะเพราในลักษณะที่หลากหลายมากขึ้น

กะเพรามีให้เลือกซื้อตลอดปี แต่จะมีกลิ่นหอมฉุนเป็นพิเศษในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะกะเพราป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งมีต้นเล็กแกร็นกว่ากะเพราปลูกจะยิ่งมีกลิ่นฉุนจากน้ำมันหอมระเหยมากกว่า น้ำมันหอมระเหยนี้เองที่มีฤทธิ์ช่วยขับลมในกระเพาะ แก้อาการจุกเสียดท้อง และช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี

การเลือกซื้อ

กะเพรามีความฉุนที่มากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ พื้นที่ และวิธีการดูแลรักษา โดยมากกระเพราใบใหญ่ที่พบตามท้องตลาดมักมีกลิ่นฉุนกลาง ไม่เผ็ดร้อนมากนัก ควรเลือกโดยการขยี้ดมให้รู้ระดับความฉุนที่ต้องการ และต้องเลือกใบกะเพราที่สด ไม่เหี่ยว ไม่แห้งกรอบ จะยังมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก ทำให้เมื่อนำไปปรุงอาหารแล้วจะได้กลิ่นหอมน่ากิน

วิธีล้าง

กะเพราเป็นผักที่พบว่ามีสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างมากที่สุดอีกชนิด จึงควรล้างให้สะอาดเพื่อลดสารปนเปื้อนก่อนนำมาปรุงอาหาร อาจทำได้โดยการแช่กับน้ำผสมเกลือแกง ในอัตราส่วน น้ำ 1 กาละมัง ต่อเกลือแกง 1 ช้อนโต๊ะ แช่ไว้ 10-20 นาที แล้วล้างน้ำเกลือออกจนหมดเค็ม วิธีนี้จะช่วยลดสารเคมีตกค้างได้ราว 40%

วิธีกิน-วิธีปรุง

นอกจากเมนูขวัญใจมหาชนอย่างผัดกะเพราแล้ว กลิ่นหอมฉุนของกะเพรายังเข้ากันได้ดีกับเมนูอื่นๆ ตั้งแต่เมนูง่ายๆ อย่างไข่เจียวใบกะเพรา ต้มจืดใบกะเพรา รวมถึงใส่เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมให้กับเมนูคุ้นปาก เช่น ผัดฉ่า ต้มยำ ต้มจิ๋ว แกงส้ม แกงป่า หรือจะทำเป็นกะเพรากรอบยอดนิยมที่นำไปโรยเพิ่มความตื่นตาให้กับเมนูอื่นๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่มาข้อมูล