NEW NEW

ดอกโสน

ชื่อไทย: ดอกโสน
ชื่ออังกฤษ: Hemp Fesbania
ชื่อวิทยาศาสตร์: Sesbania javanica Miq.

ต้นโสนเป็นไม้ล้มลุกในตระกูลเดียวกับแค ดอกออกเป็นช่อสีเหลืองสวยงาม ดอกโสนที่นิยมนำมาประกอบอาหารคือสายพันธุ์ที่เรียกว่าโสนหินหรือโสนกินดอก ส่วนโสนชนิดอื่นๆ นิยมปลูกกันเพื่อใช้เนื้อไม้เป็นหลัก เชื่อพื้นที่ดั้งเดิมอยู่ในโซนเขตร้อนของเอเชีย เช่นอินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ คนไทยนิยมกินกันมาแต่โบราณ โดยมีปรากฏในโคลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ว่าดอกโสนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย

ดอกโสนมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสมาก ช่วยในการบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง มีวิตามินต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย นอกจากนี้ สีเหลืองสวยของดอกโสนยังสามารถนำมาแต่งสีอาหารได้อย่างปลอดภัย โดยนำดอกโสนมาบดหรือโม่ผสมกับแป้งทำขนมหรือแป้งทำอาหาร ก็จะได้แป้งสีเหลืองนวลที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ สามารถนำไปใช้ทำขนมต่างๆ ที่ให้สีสวยจากธรรมชาติโดยไม่ต้องกังวล

การเลือกซื้อ

ดอกโสนเหี่ยวและช้ำง่ายเช่นเดียวกับดอกไม้กินได้แบบอื่นๆ จึงควรเลือกดอกโสนสดโดยพิจารณาให้มีรอยช้ำหรือมีกลีบเน่าให้น้อยที่สุด ดอกโสนกินได้ทั้งแบบที่ยังตูมเป็นกระเปาะและแบบที่ดอกบานแล้ว แต่หากต้องการเก็บไว้หลายวันควรเลือกดอกโสนที่ยังตูมอยู่เพราะจะสามารถเก็บได้นานกว่าดอกบาน 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับการเก็บรักษา

วิธีล้าง

เดิมที่ดอกโสนเป็นพืชหัวไร่ปลายนาที่ไม่มีใครปลูกเพื่อซื้อขายกันในเชิงพาณิชย์มากนัก แต่ปัจจุบันมีบางพื้นที่ที่ปลูกโสนเพื่อเก็บดอกขายโดยเฉพาะด้วย กระนั้นเองโสนก็เป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมากนัก เพราะนอกจากจะแข็งแรงและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดปีแล้ว ยังมีโรคแมลงมาก่อกวนค่อนข้างน้อย การล้างดอกโสนจึงเป็นการล้างเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกมากกว่าชะล้างสารเคมีตกค้าง อย่างไรก็ตาม โสนรวมถึงผักดอกทุกชนิด เมื่อล้างแล้วจะไม่สามารถเก็บได้นาน เพราะกลีบดอกจะช้ำและเน่า หากยังไม่ใช้จึงควรเก็บไว้โดยไม่ต้องล้าง เมื่อจะนำมาปรุงอาหารจึงแบ่งมาล้างเท่าที่จะใช้งาน โดยใช้วิธีแช่ในน้ำสะอาดและเปลี่ยนน้ำเรื่อยๆ จนไม่มีเศษฝุ่นเศษดินตกตะกอนก็พอ

วิธีกิน-วิธีปรุง

เมนูจากดอกโสนมีทั้งแบบดั้งเดิมอย่างแกงส้มดอกโสนซึ่งให้รสชาติและสีสันแตกต่างจากแกงส้มดอกแคซึ่งคุ้นตากันโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังมีเมนูง่ายๆ อย่างดอกโสนผัดน้ำมันหอย ไข่เจียวดอกโสน รวมถึงมีการนำไปประยุกต์แบบต่างๆ อย่างเช่นยำดอกโสน ดอกโสนทอดกรอบ หรือกระทั่งใส่เพื่อช่วยเพิ่มสีสันในเมนูข้าวยำให้น่ากินมากยิ่งขึ้นก็ได้เช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่มาข้อมูล

  • http://www.the-than.com/
  • นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 369 เดือนมกราคม 2553 โดย รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ