NEW NEW

คะน้า

ชื่อไทย: คะน้า
ชื่ออังกฤษ: Chinese kale, Chinese broccoli
ชื่อวิทยาศาสตร์: Brassica alboglabra

คะน้าเป็นผักเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของไทย เพราะมีการปลูกกินกันทั้งปี แม้ว่าฤดูกาลเพาะปลูกที่เหมาะสมที่สุดจะจำกัดอยู่เฉพาะฤดูหนาวก็ตาม นอกจากความกรอบอร่อยของก้านอวบๆ แล้ว คะน้ายังมีประโยชน์มหาศาล เช่นสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินซี และเบตา-แคโรทีน พร้อมทั้งมีกากใยที่เป็นประโยชน์ต่อระบบการขับถ่าย คะน้าจึงเป็นผักคู่ครัวของทั้งไทย จีน และชาวเอเชียชาติอื่นๆ ถ้วนหน้า

คะน้ามีอายุเก็บเกี่ยวราว 50 วัน แถมยังเป็นที่โปรดปรานของหนอน แมลง และศัตรูพืชทั้งหลาย เกษตรกรจึงมักใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อเร่งให้คะน้าโตทันใจและใบครบสวย ลำต้นกรุบกรอบและใบอ่อนๆ ของคะน้าคือที่เก็บสารเคมีชั้นดี คะน้าจึงเป็นผักที่ติดอันดับมีสารเคมีตกค้างมากที่สุดแทบทุกปี ก่อนจะกินคะน้าจึงควรมั่นใจว่ามาจากแหล่งปลูกที่ปลอดภัย หรือผ่านการล้างอย่างถูกวิธี เพื่อความอร่อยที่ไม่มีสิ่งอื่นตกค้าง

การเลือกซื้อ

คะน้าที่กินอร่อยคือคะน้าที่ไม่แก่เกินไป เพราะก้านจะกรอบ ไม่เหนียว วิธีการเลือกคือต้องเลือกต้นที่อวบใหญ่ ดูรอยตัดโคนต้น หากมีเส้นสีขาวขนาดเล็กละเอียดถือว่าเป็นต้นที่กำลังดี ไม่ควรเลือกต้นที่มีเส้นสีขาวใหญ่ จะได้ต้ที่แก่ ใบคะน้าสีเขียวเข้ม ไม่เหลือง ก้านและลำต้นแข็ง ไม่เหี่ยว โดยทั่วไปคะน้าจะไม่มีรสขมหรือกลิ่นฉุน หากมีรสขมหรือมีกลิ่นฉุนอาจหมายถึงการมีสารเคมีตกค้างอยู่มาก ควรหลีกเลี่ยง ทางที่ดีควรซื้อจากแหล่งปลูกที่เป็นคะน้าอินทรีย์จะปลอดภัยที่สุด

วิธีล้าง

ใช้เบกกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำอุ่น 20 ลิตรหรือราว 1 กะละมัง แช่คะน้าไว้ 15 นาทีแล้วจึงล้างออกด้วยน้ำธรรมดาให้สะอาด วิธีนี้อาจลดสารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลงได้มากถึง 90% แต่ต้องมั่นใจว่าล้างเบกิ้งโซดาออกจนหมด เพราะหากได้รับเบกิ้งโซดามากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้

วิธีกิน-วิธีปรุง

คะน้าเป็นผักขวัญใจอาหารจานเดียว ไม่ว่าจะเป็นข้าวผัด ผัดซีอิ๊ว ราดหน้า เมนูตระกูลยำที่ใช้ความหวานกรอบของก้านคะน้ามาเป็นพระเอก เช่น หมูมะนาว ยำก้านคะน้ากุ้งสด รวมถึงเป็นพระเอกในเมนูผัดยอดนิยมประจำร้านอาหารตามสั่งอย่างผัดคะน้าปลาเค็ม ผัดคะน้าหมูกรอบ ผัดคะน้าน้ำมันหอยด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่มาข้อมูล