NEW NEW

พริกขี้หนู

ชื่อไทย: พริกขี้หนู
ชื่ออังกฤษ: Bird’s eye chilli
ชื่อวิทยาศาสตร์: Capsicum frutescens

พริกขี้หนู ในปัจจุบันน่าจะเรียกได้ว่าเป็นแหล่งที่มาของความเผ็ดร้อนสำหรับอาหารไทยส่วนใหญ่ เพราะเป็นพริกที่ให้รสเผ็ดมาก กลิ่นหอม แม้จะมีเม็ดขนาดเล็กกว่าพริกแบบอื่นๆ ก็ตาม ในอดีตคนไทยไม่นิยมความเผ็ดร้อนจากพริก ด้วยว่าไม่ใช่พืชท้องถิ่นแต่เดิม ในยุคแรกจึงถูกเรียกว่า ‘พริกเทศ’ ซึ่งเกิดจากการเปรียบเทียบกับ ‘พริกไทย’ พืชดั้งเดิมของไทยที่ให้รสเผ็ดร้อนคล้ายกัน

นอกจากความเผ็ดร้อนที่ช่วยเสริมให้รสชาติอาหารเข้มข้นดุดันขึ้นแล้ว ความเผ็ดของพริกยังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง ด้วยว่าสารแคปไซซิน (Capsaisin) ที่ให้ความเผ็ดนั้นเป็นสารออกฤทธิ์ที่ดีต่อร่างกาย เช่น ช่วยลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด ช่วยเร่งเมตาบอลิซึมจึงเชื่อว่ามีผลในการลดน้ำหนัก และความเผ็ดร้อนนี้ยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ และทำให้หายใจสะดวกขึ้นอีกด้วย

การเลือกซื้อ

เลือกพริกขี้หนูที่มีขั้วสีเขียวสด ติดแน่นอยู่กับเม็ดพริก หากเป็นพริกที่เด็ดขั้วออกแล้วให้เลือกที่ส่วนหัวยังเป็นสีขาว เปลือกเต่งตึง ไม่เหี่ยว ผิวแน่น สีเขียวสดหรือแดงสด และไม่เป็นเชื้อรา หากต้องการรสเผ็ดมาก เช่น นำไปทำน้ำพริกหรือเครื่องจิ้มรสจัด ให้เลือกพริกเม็ดเล็ก จะให้รสเผ็ดร้อนมากกว่าพริกเม็ดใหญ่ โดยเฉพาะพริกที่ปลูกในพื้นที่ที่มีน้ำน้อยอย่างเช่นภาคอีสาน จะให้รสเผ็ดมากกว่าปกติ

วิธีล้าง

คัดเม็ดพริกที่เหี่ยวหรือเน่าออก เด็ดขั้วพริกที่เหลือออกให้หมด แล้วจึงล้างพริกโดยใช้วิธีแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ แช่ทิ้งไว้ราว 20 นาทีก่อนล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง หากต้องการเก็บไว้ใช้งานต่อ ควรผึ่งลมให้แห้ง ก่อนห่อด้วยกระดาษทิชชู่อย่างหนา เก็บใส่กล่องและใส่ตู้เย็นจะยืดอายุพริกได้นานถึง 1 เดือนเลยทีเดียว

วิธีกิน-วิธีปรุง

นอกจากสารพัดเมนูน้ำพริก ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกกะปิ น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกโจร รวมถึงเครื่องแกงรสเผ็ดร้อนต่างๆ แล้ว พริกขี้หนูยังเป็นพระเอกในอีกหลายเมนู เช่น ผัดพริกเกลือ ต้มยำ แกงเนื้อพริกขี้หนู แกงเขียวหวานพริกขี้หนู รวมถึงยำรสจัดจ้านก็นิยมใช้พริกขี้หนูเป็นหลักด้วยเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่มาข้อมูล