ชื่อไทย: ผักโขมแดง
ชื่ออังกฤษ: Red Amaranth
ชื่อวิทยาศาสตร์: Amaranthus dubius.
ผักโขมแดงมักถูกเข้าใจผิดว่าอยู่ในตระกูลเดียวกับผักโขมสีเขียวที่เราคุ้นตากันดี แต่จริงๆ แล้ว ผักโขมแดงเป็นคนละชนิดกับผักโขม (Spinach) และเพราะมีสีแดงจัดทั้งใบและก้าน ปลูกง่าย โตไว หลายคนจึงนิยมปลูกไว้เป็นพืชประดับ แต่ยอดและใบของผักโขมแดงก็สามารถนำมากินได้เหมือนกับยอดของผักโขมเขียว แถมยังอุดมไปด้วยประโยชน์จากสารสีแดงที่มีอยู่อย่างเข้มข้น
ผักโขมแดงเต็มไปด้วยสารรงควัตถุที่เรียกว่าแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดการตกตะกอนของเกล็ดเลือด ทำให้มีผลในการป้องกันการเกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด แต่ผักโขมแดงนั้นมีสารออกซาเลต (Oxalate) อยู่มากเช่นเดียวกับผักโขมเขียว จึงไม่ควรกินสดในปริมาณมาก เพราะออกซาเลตจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม ควรนำไปทำให้สุกด้วยการลวกหรือผ่านกระบวนการประกอบอาหารเสียก่อน ก็จะช่วยลดสารออกซาเลตได้มากถึง 80%
การเลือกซื้อ
เลือกผักโขมแดงที่ใบกลมมน มีสีแดงไปจนถึงสีแดงเข้ม ไม่เหลือง ไม่มีรอยช้ำหรือดูนิ่มเละ เพราะจะทำให้เก็บได้ไม่นาน ผักโขมเป็นผักที่ช้ำง่าย ควรรักษาความสด ตามห้างสรรพสินค้า ผักโขมที่ถูกตัดแต่งมาแล้วจึงมักถูกแพ็กไว้อย่างดี แต่หากซื้อตามตลาดให้เลือกผักโขมที่ขายทั้งช่อ เพราะจะทำให้ได้ผักโขมที่สดและเก็บรักษาได้นานกว่า
วิธีล้าง
ผักโขมมักมีเศษดินติดอยู่มากตามโคนต้น จึงควรล้างโดยการเด็ดเป็นก้านๆ แยกกัน ล้างโดยเปิดน้ำไหลผ่านเพื่อขจัดเศษดิน แล้วจึงแช่ด้วยน้ำผสมเบกกิ้งโซดาในอัตราส่วน 1 กาละมังใหญ่ต่อ 1 ช้อนโต๊ะ หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูในอัตราส่วน 10 : 1 แช่ไว้ราว 20 นาที แล้วล้างออกอีกครั้งโดยการเปิดน้ำสะอาดไหลผ่าน 1-2 นาที
วิธีกิน-วิธีปรุง
ผักโขมแดงสีสวยสามารถนำไปทำเมนูต่างๆ ได้เช่นเดียวกับผักโขมทั่วไป เช่น ยอดอ่อนผักโขมแดงลวกจิ้มน้ำพริก ผักโขมแดงอบชีส ซุปผักโขมแดง ต้มจืดผักโขมแดง แต่จะทำให้อาหารเปลี่ยนเป็นสีแดงจากแอนโทไซยานิน ใครที่ชอบดื่มน้ำผักผลไม้ปั่น หากลวกผักโขมแดงใส่เพิ่มไปในสูตรประจำก็จะทำให้น้ำผักผลไม้แก้วโปรดกลายเป็นสีแดงสวยที่ทั้งดูดีและมีประโยชน์ในคราวเดียวกัน