NEW NEW

ผักกาดเขียว

ชื่อไทย: ผักกาดเขียว
ชื่ออังกฤษ: Mustard Greens
ชื่อวิทยาศาสตร์: Brassica juncea

ผักกาดเขียวหรือผักกาดเขียวปลีที่นิยมปลูกในไทยมีหลายแบบ ทั้งแบบที่มีปลีขนาดใหญ่ มีกลิ่นฉุนน้อย สามารถนำมากินสดได้ และแบบที่มีขนาดเล็ก สีเข้มกว่า มีกลิ่นฉุนและเผ็ดซ่า เหมาะสำหรับการนำมาทำผักกาดดอง ผักกาดเขียวทั้งสองแบบปลูกในไทยมาตั้งแต่อดีตจนคุ้นตา แต่แท้จริงแล้วเป็นพืชพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดจากแถบเอเชียกลาง จนแพร่หลายมายังจีนและมีการปลูกทั่วโลกในปัจจุบัน

ผักกาดเขียวมีเบต้าแคโรทีนอยู่มาก เมื่อกินแล้วจะได้วิตามินเอซึ่งช่วยบำรุงให้ดวงตามีสุขภาพดี ป้องกันโรคตาบอดกลางคืน โรคตาฟาง และต้อตาในผู้สูงอายุ มีวิตามินซีที่ช่วยให้เหงือกแข็งแรง ลดอาการเลือดออกตามไรฟัน ผักกาดเขียวที่แก่แล้วจะมีกลิ่นฉุนและมีรสเผ็ดร้อน ซึ่งมีสรรพคุณในการช่วยย่อยอาหารและบำรุงธาตุลมในร่างกาย รวมถึงมีเส้นใยที่มีประโยชน์ต่อการขับถ่ายอีกด้วย

การเลือกซื้อ

เลือกผักกาดเขียวที่มีลำต้นอวบ ใบสีเขียวสด ไม่เหี่ยวและไม่เป็นสีเหลือง ก้านติดแน่นกับต้น สังเกตบริเวณรอยตัดที่โคนต้นให้มีผิวบาง ไม่มีจุดสีขาวรอบรอยตัดที่เห็นชัดเจน จะได้ผักกาดเขียวที่อายุเหมาะสมกับการกินสดหรือนำมาปรุงอาหาร ผักกาดเขียวที่แก่เกินไปจะมีรสฉุน กลิ่นฉุน ไม่เหมาะกับการนำมาประกอบอาหาร

วิธีล้าง

หากนำมาปรุงอาหารหรือทานสดให้เด็ดผักกาดเขียวเป็นใบๆ ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาด แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชูหรือเบกกิ้งโซดาราว 20 นาที แล้วจึงล้างให้สะอาดอีกครั้งด้วยการเปิดน้ำไหลผ่าน 1-2 นาที ใช้มือลูบเบาๆ เพื่อกำจัดคราบดินและสิ่งสกปรก ส่วนหากจะนำไปทำผักกาดดองให้ล้างแบบเดียวกันแต่ไม่ต้องเด็ดเป็นใบ

วิธีกิน-วิธีปรุง

กลิ่นฉุนแรงของผักกาดเขียวทำให้ไม่ค่อยนิยมนำมากินสดหรือปรุงอาหารมากนัก ยกเว้นกับผักกาดเขียวพันธุ์ท้องถิ่นบางชนิดที่นิยมนำมากินเป็นผักแนมลาบเพราะให้รสเผ็ดร้อนเข้ากันได้ดี ส่วนใหญ่ผักกาดเขียวปลีมักถูกนำไปแปรรูปเป็นผักกาดดอง ทั้งแบบดองเปรี้ยวและดองเค็ม แล้วค่อยนำมาปรุงอาหารเป็นเมนูต้มผักกาดดองกระดูกหมู ผัดผักกาดดองใส่ไข่ หรือกินเป็นผักแนมคู่กับขนมจีนก็ช่วยเพิ่มแบคทีเรียดีอย่างโปรไบโอติกส์ที่ช่วยให้ลำไส้แข็งแรง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่มาข้อมูล