NEW NEW

ชะพลู

ชื่อไทย: ชะพลู
ชื่ออังกฤษ: Wild betel
ชื่อวิทยาศาสตร์: Piper sarmentosum Roxb

แม้จะมีหน้าตาละม้ายคล้ายใบพลูจนหลายคนแยกไม่ออก แต่วิธีสังเกตใบชะพลู (หรือช้าพลู) คือใบรูปหัวใจนี้มีขนาดเล็กกว่า บางกว่าใบพลูที่ไว้กินกับหมากหรืออยู่ในพานถวายพระ และหากลองขยี้ดม ใบชะพลูจะมีกลิ่นฉุนหอมเรียกน้ำลายมากกว่า

ความหอมอร่อยของใบชะพลูมาพร้อมสรรพคุณมากมาย ทั้งขับลม ลดกลิ่นปาก บำรุงโลหิต บำรุงสายตา และช่วยต้านสารอนุมูลอิสระเพราะมีสารเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) สูง อีกทั้งยังมีธาตุเหล็กและแคลเซียม (Calcium) สูงที่ใกล้เคียงกับนมเลยทีเดียว

การเลือกซื้อ

เลือกดูชะพลูที่ยังมียอดอ่อนอยู่บ้าง ใบส่วนใหญ่มีสีเขียวและผิวเป็นมันซึ่งแสดงว่าเพิ่งเก็บมาได้ไม่นาน ยังคงความสดอยู่ เลี่ยงใบที่มีสีเหลืองเพราะแก่จัดหรือถูกแดดมากเกินไป

วิธีล้าง

ชะพลูเป็นพืชผักพื้นบ้านที่ไม่ค่อยมีศัตรูพืช อาจมีไรขาวที่ระบาดในช่วงหน้าแล้งบ้าง แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรจะฉีดพ่นด้วยน้ำส้มควันไม้หรือจุลินทรีย์ที่หมักเอง ไม่ใช้สารเคมี จึงค่อนข้างเป็นผักที่ปลอดภัย เมื่อจะนำมากินสดๆ หรือประกอบอาหาร จึงควรล้างเศษดินและฝุ่นให้หมดผ่านน้ำไหล หรือจะแช่น้ำผสมเบกกิ้งโซดาในอัตราส่วน 10 : 1 นาน 10 นาทีแล้วล้างออกให้สะอาดก็ได้

วิธีกิน-วิธีปรุง

ใบชะพลูสามารถกินสดๆ ด้วยการใช้ห่อเมี่ยงหลากชนิด ที่เราคุ้นเคยกันดีคงเป็นเมี่ยงคำ หรือจะซอยใส่ข้าวยำก็ได้ แต่หากนำไปปรุงอาหาร ก็อยู่ได้ทั้งในแกงเลียง หรือแกงอ่อมแบบชาวอีสานซึ่งช่วยลดกลิ่นคาวและเพิ่มรสนัวโดยไม่ต้องใส่ผงชูรส ส่วนเมนูทางใต้ ก็มีทั้งแกงกะทิหอยขม แกงคั่วปูใบชะพลู ไปจนถึงแกงป่าปลาแบบจันทบุรี หรือจะซอยใส่ทอดมัน ไข่เจียว หรืออาหารง่ายเพื่อเพิ่มประโยชน์จากผักใบเขียวในมื้ออาหาร

บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่มาข้อมูล