ชื่อไทย: ต้นอ่อนทานตะวัน
ชื่ออังกฤษ: Sunflower Sprouts
ชื่อวิทยาศาสตร์: Helianthus annuus.
ต้นอ่อนทานตะวันที่เพิ่งงอกออกจากเมล็ดทานตะวันเพียง 7-11 วัน กลายเป็นวัตถุดิบดีเด่นของคนรักสุขภาพ เพราะจากหลายๆ งานวิจัย รับรองว่าต้นอ่อนทานตะวันมีสารกาบา (GABA (gamma-aminobutyric acid) ที่ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน มะเร็ง อัลไซเมอร์ ทั้งยังช่วยบำรุงผิว สายตา และชะลอวัยได้ แถมยังมีโปรตีนสูงกว่าถั่วเหลืองอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีกรดไลโนเลอิก (Linoleic) สูงมาก คอยช่วยบำรุงสมองและกระดูกให้แข็งแรง
ต้นอ่อนทานตะวันเหมาะกับทุกเพศทุกวัย แต่ยิ่งดีกับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะมีโฟเลต (Folic acid) ที่ดีกับเด็กในท้องอีกทอด ช่วยเสริมสร้างระบบประสาทและพัฒนาการให้เด็ก แต่แม้จะขึ้นชื่อว่าดีต่อสุขภาพ ข้อควรระวังคือแคลอรี่ของผักชนิดนี้ก็สูงไม่ใช่น้อย จึงต้องระวัง ไม่บริโภคมากเกินไป
การเลือกซื้อ
ต้นอ่อนทานตะวันส่วนใหญ่ พ่อค้าแม่ค้าจะล้างน้ำ เก็บเศษดิน ราก เปลือกเมล็ดออก สะเด็ดน้ำแล้วผึ่งให้แห้ง ถ้ามัดปากถุงแน่น ไม่เจาะรู สามารถเก็บในตู้เย็นได้ 5-7 วัน แต่หากไม่มั่นใจในความสะอาด จะล้างอีกครั้งแล้วสะเด็ดน้ำให้แห้งก่อนนำไปปรุงอาหารก็ได้
วิธีล้าง
ต้นอ่อนทานตะวันไม่จำเป็นต้องพึ่งยาฆ่าแมลงในการปลูก แต่เศษดินที่ติดมาอาจมีโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อโรคอันตราย ให้แช่น้ำผสมสารละลายด่างทับทิมหรือเบกกิ้งโซดา ในอัตราส่วนเบกกิ้งโซดา 1 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร แช่ไว้ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดแบบไหลผ่าน จากนั้นก็นำไปปรุงอาหารหรือกินสดๆ ได้
การปลูก
นำเมล็ดทานตะวันไปตากแดดจัดๆ 1 วัน แล้วแช่น้ำ 4-6 ชั่วโมง ห่อเมล็ดไว้ในผ้าขนหนูชื้นๆ ให้ครบ 20 ชั่วโมงจนเมล็ดเริ่มงอกเป็นตุ่มเล็กๆ จากนั้นนำลงดินในถาดเพาะ กลบดินบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม ควบคุมแสงให้อยู่ในที่รำไรพอให้ต้นอ่อนยืดหาแสงเพื่อจะได้ลำต้นตรงยาว รดน้ำ 2 ครั้งเช้าเย็น จนวันที่ 7 (หรือเมื่อเริ่มเห็นใบจริงแทรกจากปลายต้นอ่อน) ค่อยนำออกมารับแสงแล้วตัดด้วยกรรไกรหรือคัตเตอร์คมๆ เพื่อให้ต้นอ่อนไม่ช้ำ
วิธีกิน-วิธีปรุง
ต้นอ่อนทานตะวันเหมาะทั้งรับประทานสดๆ เป็นผักรสกรอบหวานในสลัด หรือจะผัดน้ำมัน ทำแกงจืด เป็นอีกผักทางเลือกในสุกี้ หรือจะเป็นจานยำเพิ่มรสจัดจ้านชวนเจริญอาหารก็ได้