NEW NEW

ผักเหลียง, ผักเหมียง

ชื่อไทย: ผักเหลียง, ผักเหมียง
ชื่ออังกฤษ: Melinjo
ชื่อวิทยาศาสตร์: Gnetum gnemon

ได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งผักพื้นบ้านควบตำแหน่งนางงามมิตรภาพ เพราะเป็นผักกินง่าย รสชาติออกหวานมัน เคี้ยวอร่อย ไม่มีรสขมหรือเหม็นเขียว หากใครโยเยไม่ชอบกินผักให้เริ่มต้นด้วยผักจากไม้ยืนต้นอายุยืนชนิดนี้ รับรองว่าจะต้องติดใจ

ใบเหลียงเป็นผักที่มีเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) สูงกว่าผักบุ้งจีนถึง 3 เท่า หากอยากบำรุงสายตาแต่หาผักบุ้งจีนที่มั่นใจว่าปลอดภัยไม่ได้ ใบเหลียงนับเป็นทางเลือกที่ดีนอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีแคลเซียม (Calcium) บำรุงกระดูกและฟัน อีกทั้งการช่วยอุดหนุนให้เกษตรกรปลูกต้นเหลียง ยังเท่ากับมีส่วนช่วยอนุรักษ์ดินและป่า เพราะต้นเหลียงช่วยให้หน้าดินมีความชุ่มชื้น ลดการกัดเซาะ และป้องกันการเกิดไฟป่าได้ด้วย

การเลือกซื้อ

ใบเหลียงจะเหี่ยวเร็วหากเก็บไว้นานโดยไม่สัมผัสน้ำ จึงควรเลือกซื้อที่แม่ค้าพรมน้ำไว้และเก็บไว้ในที่ร่มชุ่มชื้น ดูที่มียอดอ่อนเยอะๆ เพราะกินอร่อยกว่าใบแก่ๆ

วิธีล้าง

ใบเหลียงเป็นยอดอ่อนของไม้ยืนต้นที่ทนทาน หากมีศัตรูพืชก็อาศัยการตัดแต่งกิ่งหนีความชื้นเท่านั้น ปลอดภัยจากเคมีเกษตร หากได้มา ให้ล้างเศษฝุ่นเศษดินออกให้หมด แช่น้ำผสมเบกกิ้งโซดาในอัตราส่วน 10:1 นาน 10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดจนเกลี้ยง ก็นำไปปรุงอาหารได้

วิธีกิน-วิธีปรุง

ว่ากันว่าใบเหลียงกับไข่ ยังไงก็อร่อย เมนูยอดฮิตจึงหนีไม่พ้นใบเหลียงผัดไข่ (หรือเพิ่มความพิเศษอีกนิดด้วยกุ้งเสียบ) แต่เมนูจากใบเหลียงยังมีอีกมาก ไล่ตั้งแต่พื้นฐานอย่างใบเหลียงลวกจิ้มน้ำพริกกะปิ ห่อหมกใบเหลียง ใบเหลียงต้มกะทิ ไปจนถึงแกงหลงใต้ที่ใส่สารพัดผักแดนด้ามขวาน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่มาข้อมูล