ชื่อไทย: ตำลึง
ชื่ออังกฤษ: Ivy gourd
ชื่อวิทยาศาสตร์: Coccinia grandis (L.) Voigt
ตำลึงเป็นพืชผักริมรั้วที่ขึ้นให้เห็นอยู่ทั่วไป ขณะเดียวกันก็หาซื้อง่ายตามท้องตลาด ใบสีเขียวเป็นรูปห้าแฉก ซึ่งเป็นตัวแบ่งแยกเพศของตำลึงเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งเราควรแยกให้ออก เพราะตำลึงเพศผู้จะมีใบหยักเป็นห้าแฉกชัด คล้ายใบไอวี่มากกว่า หากกินเข้าไปอาจท้องเสียได้ ส่วนตำลึงเพศเมียที่ใบจะมนคล้ายเป็นรูปหัวใจ เหมาะจะเอามาแกงจืดตำลึง ผัดน้ำมัน หรือใส่ในเมนูหลากหลายที่กินอร่อยและปลอดภัยไม่ต้องลุ้น
นอกจากที่เรารู้กันว่าตำลึงมีวิตามินเอสูง เป็นผักมีประโยชน์ที่เหมาะกับเด็กกำลังโตและช่วยเรียกน้ำนมให้คุณแม่ลูกอ่อน จากงานวิจัยของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังบอกว่าตำลึงมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) สารต้านอนุมูลอิสระที่ค่อนข้างสูง ป้องกันโรคมะเร็ง เบาหวาน ช่วยลดน้ำตาลในเลือด อีกทั้งยังมีแคลเซียม (Calcium) ที่ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้ดี ใครทีแพ้นมวัวหรือไม่ถนัดดื่มนม ก็สามารถบำรุงกระดูกและฟันด้วยตำลึงแทนได้
การเลือกซื้อ
ตำลึงในตลาดมักกำเป็นแพใหญ่ๆ แต่เมื่อเด็ดยอดและใบอ่อนๆ ก็มักจะปริมาณพอแกงจืดหนึ่งหม้อ หรือผักไฟแดงหนึ่งอิ่ม และแม่ค้ามักจะรดน้ำจนชุ่มเพราะตำลึงค่อนข้างเหี่ยวง่ายเมื่อไกลต้น จึงควรสังเกตให้ดีว่ายอดตำลึงไม่ร่วงหักมากนัก รวมทั้งไม่มีใบเหี่ยวเฉาหรือแก่มากเกินไป
วิธีล้าง
แม้จะเป็นพืชปลูกง่าย แต่ก็มีแมลงมาคอยไต่ตอมกัดกินใบจนเป็นรูแหว่ง เกษตรกรจึงอาจพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อให้ตำลึงมีใบสวยไร้ตำหนิ จึงควรให้ความสำคัญกับการล้างให้ดีก่อนนำมาปรุงอาหาร โดยแช่ในน้ำเปล่า 10 ส่วน ผสมกับน้ำส้มสายชู 1 ส่วน หรือน้ำผสมเบกกิ้งโซดาในอัตราส่วน น้ำ 20 ลิตร ต่อ เบกกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะ แช่ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้วจึงล้างออกอีกครั้งด้วยวิธิเปิดน้ำไหลผ่านนาน 1-2 นาทีก่อนนำไปประกอบอาหาร ช่วยลดสารเคมีตกค้างได้
การปลูก
ขอแบ่งปันพันธุ์ตำลึงเพศเมียจากรั้วเพื่อนบ้าน เลือกกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนที่เป็นสีน้ำตาลขนาดประมาณดินสอ หั่นเป็นท่อนๆ ยาว 15 เซ็นติเมตร ริดใบออก แล้วปักชำในกระถางดินที่ระบายน้ำได้ดี รดน้ำชุ่มเช้าเย็นในแดดรำไร หรือจะลงดินริวรั้วเลยก็ได้ แต่ในช่วงแรกๆ หาอะไรมาพรางแสงไม่ให้แดดจัดเกินไป พอแข็งแรง ก็เก็บยอดไปปรุงอาหารได้เลย
วิธีกิน-วิธีปรุง
เพราะมีวิตามินเอ (Vitamin A) ที่ละลายในน้ำมัน การปรุงตำลึงจึงเหมาะกับการผัด หรือหากนำไปแกงจืด ก็ควรเจียวกระเทียมแล้วโรยหน้าแกงจืดด้วยน้ำมันเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินเอได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น