ชื่อไทย: ข่า
ชื่ออังกฤษ: Galanga
ชื่อวิทยาศาสตร์: Alpinia galanga (L.) Willd.
สุภาษิตขิงก็รา ข่าก็แรง คงบ่งบอกความเผ็ดร้อนของพืชในวงศ์ขิงทั้งสองได้ดี แต่อันที่จริงแล้ว โลกใบนี้มีพืชเหง้ากลิ่นหอมในวงศ์ขิงอยู่กว่า 1,500 ชนิด และในเมืองไทยเองก็มีหลากหลายกว่า 300 ชนิด ซึ่งเรานำมาใช้ประโยชน์เพิ่มความอร่อยร้อนแรงในอาหาร และเพิ่มสรรพคุณทางยา ไม่ว่าจะเป็นขิง ข่า กระชาย กระวาน ไพล เปราะ ไปจนถึงว่านอีกหลากหลายชนิด
เพราะเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน หลายคนจึงแยกแยะไม่ค่อยออก แต่หากสังเกตให้ดี ตัวเหง้าข่าจะมีสีน้ำตาลอมแสดไปจนถึงชมพู มีข้อปล้องสั้นและเห็นได้ชัดเจน ส่วนเนื้อในเป็นสีขาวหรือแกมเหลืองอ่อนๆ ต่างจากขิงที่จะเป็นสีเหลืองออกน้ำตาล และข้อปล้องไม่ชัดเท่านั่นเอง
การเลือกซื้อ
เวลาเลือกซื้อ หากจะใช้ข่าอ่อน ควรเลือกแง่งที่อ้วน สด เปลือกสีชมพูปนขาว ใช้เล็บจิกลงไปในเนื้อได้ แต่หากต้องการข่าแก่ ให้เลือกที่เปลือกเป็นสีน้ำตาล จะได้กลิ่นรสชัดเจนกว่า
วิธีล้าง
ล้างดินจากเหง้าข่าให้สะอาด โดยแช่น้ำผสมสารละลายด่างทับทิมหรือเบกกิ้งโซดา ในอัตราส่วนเบกกิ้งโซดา 1 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร แช่ไว้ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดแบบไหลผ่านก่อนนำไปประกอบอาหาร
การปลูก
ข่าเป็นพืชใบสวยที่ปลูกง่ายทั้งในดินและกระถาง สามารถเป็นไม้ประดับก่อนจะได้อายุขุดหัวข่ามากินหรือขยายพันธุ์ต่อ หากปลูกในกระถาง ให้รองด้วยกาบมะพร้าว ใส่ดิน วางหัวข่าให้ห่างกันประมาณ 1 คืบ แล้วกลบด้วยดิน รดน้ำเช้าเย็น ต้นข่าจะโตออกใบพายสีเขียวสวย และมอบข่ารสจัดจ้านให้เรา
วิธีกิน-วิธีปรุง
แม้เราจะไม่ได้กินข่าเป็นคำๆ แต่รสเผ็ดร้อนของมันก็ช่วยให้ต้มข่าและต้มยำมีรสชาติเผ็ดร้อนถึงรสถึงชาติ และยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในเครื่องแกงไทยเกือบทุกชนิด ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลา รวมทั้งเพิ่มความหอมเฉพาะตัวในแบบไทยๆ
แต่หากเป็นหน่อข่าอ่อนที่เพิ่งแทงยอดออกมาจากลำต้นใต้ดิน สามารถกินสดๆ หรือลวกเพื่อให้จิ้มน้ำพริก หลน หรือนำมายำก็ได้