NEW NEW

ดอกกุยช่าย

ชื่อไทย: ดอกกุยช่าย
ชื่ออังกฤษ: Chinese chive
ชื่อวิทยาศาสตร์: Allium tuberosum Rottl. ex Spreng

กุยช่ายเป็นพืชที่หน้าตาคล้ายหญ้า ใบแบนแคบเติบโตและแตกใบรวดเร็วจากหัวใต้ดิน สีเขียวคล้ายต้นหอมแต่มีกลิ่นที่ฉุนกว่า ส่วนกุยช่ายขาวที่เราเห็นกันในร้านข้าวต้มก็คือกุยช่ายที่ถูกครอบไม่ถูกแสงแดดจนกลายเป็นสีขาว มีกลิ่นอ่อนและเนื้อนุ่มกว่า ไม่ใช่คนละสายพันธุ์แต่อย่างใด

ในขณะที่ดอกกุยช่าย คือตุ่มดอกที่ขึ้นจากก้านกลมสีเขียว กลิ่นและรสฉุนชัดกว่าใบกุยช่ายด้วยซ้ำ กุยช่ายจึงเป็นผักกลิ่นแรงที่ต้องห้ามในเทศกาลเจ แต่ประโยชน์ของมันช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ในเลือดได้ดี ทั้งยังมีกากใยสูงที่ดีต่อลำไส้ด้วย

การเลือกซื้อ

เลือกดอกกุยช่ายที่ยังตูมเป็นตุ่มอยู่ เพราะถ้าบานแล้วจะแก่เกินกินอร่อย

วิธีล้าง

กุยช่ายเป็นพืชกลิ่นฉุน ศัตรูพืชน้อยแต่ก็แข็งแกร่ง จึงยังมีการใช้ยาฆ่าแมลงและศัตรูพืชอยู่ดี ควรล้างด้วยแช่ในน้ำผสมเบกกิ้งโซดา อัตราส่วน 10 : 1 สัก 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำไหล 2 นาทีก่อนนำไปปรุงอาหาร

วิธีกิน-วิธีปรุง

ดอกกุยช่ายผัดตับหมูคือเมนูที่ดึงกลิ่นและรสฉุนชัดเข้ากับความแน่นนุ่มของตับได้ดี แต่จะนำไปผัดกับไก่ กุ้ง หรือเห็ดหอมแบบมังสวิรัติก็ได้เช่นกัน

ที่มาข้อมูล

  • สารานุกรมผัก ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์